ข่าวด่วน
Sun. Jul 20th, 2025
โลกรวน

เครือข่ายกินสบายใจรุกสร้างแกนนำเกษตรกรพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรอินทรีย์รับมือโลกรวน

วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุม โรงแรมสุนีย์ เครือข่ายกินสบายใจ จับอบรมแกนนำเกษตรกรแปลงต้นแบบการผลิตอาหาร เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติ เพื่อสร้างความรู้ ความตระหนัก ในปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค้นหารูปแบบการปรับตัวรับมือ คิดโครงการขนาดเล็กเพื่อทดลองในแปลงเกษตรอินทรีย์ นำร่อง 50 แปลงในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในงานมีการเสวนา แลกเปลี่ยนความรู้จากวิทยากร และเกษตรกรต้นแบบ มีข้อมูลที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในหลายหัวข้อ 

นางสาวพรรณี เสมอภาค นักวิชาการโครงการกินสบายใจ ผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็น 1 ใน 10 พื้นที่ ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุด เนื่องภูมินิเวศน์เป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำทุกสาขาไหลมารวมกัน และปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงการตกของฝน ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น และฝนตกชุกในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานเหมือนในอดีต ผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงเกิดความเสียหายของผลผลิต สะเทือนถึงความมั่นคงทางอาหาร และรายได้

การปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มต้นจากการประเมินความเสี่ยง บนพื้นที่ตัวเองด้วยการมีข้อมูลในระดับแปลงที่แม่นยำ จากนั้นลดและป้องกันความเสี่ยงในหลายเรื่อง เช่น การปรับปรุงดิน การจัดการน้ำ การจัดการพืช แมลง การกระจายความเสี่ยง ด้วยการเพิ่มกิจกรรมในแปลงที่หลากหลาย ออกแบบแปลงเกษตรให้รองรับระบบการผลิตที่ยั่งยืน การประกันความเสี่ยง ด้วยการสำรองเมล็ดพันธุ์ และผลักดันนโยบายให้มีระบบการประกันภัยพิบัติทางการเกษตร และการปรับตัวรับมือสุดท้าย คือ การอพยพ เมื่อภัยพิบัติมาเยือน โดยเคลื่อนย้ายทั้ง คน สัตว์ขึ้นสู่ที่สูง เป็นต้น

 ดร.จตุพร เทียนมา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคอีสาน เปรียบเทียบ 10 ปีย้อนหลัง พบว่า ภาคอีสานมีปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีเพิ่มขึ้น และในจังหวัดอุบลราชธานี มีปริมาณฝนเพิ่ม 200 มิลลิเมตรต่อปี และจังหวัดนครราชสีมา เพิ่มขึ้น 177 มิลลิเมตรต่อปี และน้ำจากจังหวัดเหล่านี้ไหลลงแม่น้ำสาขา และไหลมาสมทบที่จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เสี่ยงต่อน้ำท่วม

โลกร้อน โลกเดือด แต่โดยรวมทั้งภาคอีสานปริมาณน้ำฝนไม่ได้ลดลง และอุณหภูมิเฉลี่ยก็เพิ่มสูงขึ้น โดยอุณหภูมิเฉลี่ยภาคอีสานเพิ่ม 2.06 องศา เทียบกับค่าเฉลี่ยของยุคก่อนอุตสาหกรรม สร้างผลกระทบต่อพืช ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ อุณหภูมิที่เกิน 32 องศาเซลเซียส ในระหว่างที่ข้าวออกรวง คือเดือน ตุลาคม ส่งผลให้เกสรตัวผู้เป็นหมัน เมล็ดข้าวลีบมากขึ้น ข้าวสร้างแป้งไม่ได้เต็มที่ นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังทำให้ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อราเติบโตอย่างรวดเร็ว 

เกษตรนิเวศน์ คือทางออกของเรื่องนี้ โดยการประยุกต์หลักการทางนิเวศน์มาใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งการหมุนเวียนสสาร และการถ่ายทอดพลังงาน วางแผนให้เกิดความเสถียรของน้ำในพื้นที่ ไม่ให้เกิดภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม เลือกพืชที่เหมาะสมกับดิน ปลูกพืชที่หลากหลายเพื่อเป็นถิ่นอาศัยของแมลงและสัตว์ต่างๆในธรรมขาติ และใช้น้ำมาสร้างอินทรียวัตถุเพื่อปรุงดิน เช่น ผักตบชวา ปรุงดินอุดมสมบูรณ์ มีช่องว่างในดินเพื่อเติมอากาศและอาหาร จากนั้นวางแผนเพาะปลูกเพื่อสร้างอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดอุณหภูมิภายในฟาร์ม ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และเพิ่มรายได้ 

นายพิทย์ฐากร ภูรีทรัพย์ธาดา นักวิชาการเกษตร สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี  กล่าวว่า หลักการเลือกพืชให้เหมาะกับดิน ปรับปรุงดินให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นหลักการทำงานของสถานีพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการร่วมกับการส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ของท้องถิ่น การจัดตั้งศูนย์ชีวภาพชุมชน เพื่อรวบรวมข้อมูล ผลิต ขยายจุลินทรีย์ การส่งเสริมองค์ความรู้ไมคอร์ไรซา ลดต้นทุน ช่วยให้กระบวนการหาอาหารของพืชร่วมกับการปลูกป่า ซึ่งศูนย์ชีวภาพชุมชน จะกระจายอยู่ในกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้โดยง่าย นอกจากนี้พัฒนาที่ดิน ยังมีสระน้ำในไร่นา 1 สระ ในราคาที่เกษตรกรจ่ายสมทบเพียง 2,500 บาท แต่ที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรวางแผนผิด วางสระน้ำไว้บนที่สูง ทำให้น้ำไม่สามารถไหลเข้าไปเติมน้ำในสระได้  

นางวันดี อุวิทัศน์ กล่าวว่า เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์เมื่อปี 2560 บนพื้นที่ที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นพื้นที่ของครอบครัวที่เคยทำนา ทำสวนมาก่อน การทำงานเริ่มต้นจากการสร้างระบบนิเวศน์เกษตร  ให้มีต้นไม้ที่หลากหลาย  ประยุกต์หลักคิดของวนเกษตรมาใช้ในแปลง ปลูกต้นไม้ป่า ไม้หายาก ไม้ดอก ไม้ผล พืชผัก และพืชสมุนไพร มุ่งเน้นแนวคิดการปลูกพืชแบบผสมผสานหมุนเวียนตามฤดูกาล และทำเกษตรอินทรีย์เต็มพื้นที่ทั้ง 20 ไร่ ให้ความสำคัญกับปรับปรุงดิน สร้างบ้านให้จุลินทรีย์ ห่มดิน ให้พืชแข็งแรง ทำให้มีผลผลิตจำหน่ายในตลาดชุมชนตลอดปี และพบว่าสามารถปรับตัวรับมือกับอากาศแปรปรวนได้ดี 

ข้อแนะนำสำหรับการปรับตัวรับมือของเกษตรกร คือการปรับความคิด และจิตใจของเกษตรกร เพื่อเรียนรู้กับปัญหานี้ และประเมินพื้นที่ระบบนิเวศน์ของเกษตรกร มีต้นทุนอะไรบ้าง เช่น มีป่าหัวไร่ปลายนาเดิม นอกจากนี้ยังต้องประเมินแรงงาน เงินทุน ศักยภาพ ดิน น้ำ ระบบพืชในพื้นที่ สภาพแวดล้อมรอบข้างที่ส่งผลต่อการทำเกษตร ก่อนจะนำมาออกแบบการลดและป้องกันความเสี่ยงของตัวเอง   

อุปสรรคหนึ่งของการปรับตัวรับมือกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน เกิดจากแนวคิดของคนทำเกษตรรุ่นเก่า ที่ไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้รูปแบบการใช้ที่ดินใหม่ๆ เช่น การทำเกษตรผสมผสาน แทนที่การทำนาหรือทำพืชเชิงเดี่ยว  การปิดกั้นการเรียนรู้ด้านการทำเกษตรที่ยั่งยืนนี้  ทำให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจกลับบ้านมาสานต่ออาชีพเกษตรของครอบครัว ไม่มีโอกาสได้เติบโตในภาคเกษตร

Related Post